วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประชารัฐ กับ ระบบบริการสุขภาพไทย

                          คำว่า ประชารัฐที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดถึงบ่อยๆ คือ อะไร?ตอบ : คำว่า ประชารัฐหรือคำว่า ประชารวมกับคำว่า รัฐนั้น มาจากเนื้อเพลงชาติไทยที่เราขับร้องหรือได้ยินกันทุกวัน ซึ่งมีใจความว่า“... ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี ... ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ประชารัฐเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดความสงบเรียบร้อย เกิดความสามัคคี และสร้างการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้จริง ตามเนื้อหาสาระของเพลงชาติไทยที่มีมานานแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้ขยายความให้ชัดเจนด้วยว่า เป็นการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ สร้างพลังในการทำความดีให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเอง หรือข้าราชการ แต่ทำเพื่อประชาชนทุกคน คำมั่นสัญญานี้ไม่ใช่นโยบายหาเสียง แต่ถือเป็นสัญญาระหว่างรัฐและประชาชน ที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหาหรือแก้ไขความผิดพลาดในอดีตทั้งหมดให้ได้ โดยความร่วมมือกัน   สำหรับหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ ประชารัฐคือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เนื่องจากการแก้ปัญหา การปฏิรูป และการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน จะสำเร็จหรือเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ได้เลยหากขาด ซึ่งความร่วมมือร่วมใจ และการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล
                 ในด้านของ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวทางประชารัฐ จัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ในระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยประชาชน และชุมชนพึ่งตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งกัน มีเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุข  นโยบายการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่ง นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ได้มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ แก่ผู้รับผิดชอบงานปฐมภูมิและระบบสุขภาพระดับอำเภอ ผู้นิเทศงานพัฒนาระบบบริการสาขาปฐมภูมิและสุขภาพระดับอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอ จำนวนกว่า 200 คน ในวันที่ 21 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา  ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. ได้กล่าวว่า  กระทรวงสาธารณสุขนั้น มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ คือราชการและประชาชนร่วมกันดำเนินการ ตั้งแต่การระดมความคิดเห็นประชาชน พัฒนานโยบายด้านสุขภาพ การมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปจนถึงการใช้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) เป็นกลไกการทำงานเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ให้ประชาชนและชุมชนพึ่งตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งกัน มีเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ใน 12 สาขาหลัก มีอะไรบ้าง ถ้ามีโอกาสจะนำรายละเอียดมาเสนอผ่านทางรายการอีกครั้ง  โดยเน้นจัดเป็นเครือข่ายบริการ ที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ เบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ใกล้บ้าน
                      และในปี 2559 ได้ตั้งเป้าหมายให้มีระบบสุขภาพระดับอำเภอ ที่เชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับชุมชนและท้องถิ่นอย่างมีคุณภาพร้อยละ 85 จากที่มีทั้งหมด 856 แห่ง โดยกำหนดให้พัฒนาใน 4 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาตามหลักการดำเนินงานระบบสุขภาพระดับอำเภอ 2.ค้นหาและจัดการแก้ไขปัญหาสุขภาพตามบริบทของพื้นที่อย่างน้อย 3 เรื่อง   3.พัฒนางานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่  การลดอุบัติเหตุ  มีการกำหนดจุดเสี่ยง 1 จุดต่อ 1 อำเภอ มีคลินิกโรคไตเรื้อรัง คัดกรองและดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) และ4.การดูแลกลุ่มผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ ผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า มีทีมหมอครอบครัวดูแลอย่างน้อยร้อยละ 60 ผลการดำเนินงานในปี 2558 ที่ผ่านมา มีทีมหมอครอบครัวแล้ว 66,453 ทีม ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง 87,500 คน ผู้พิการ 280,004 คน และผู้ป่วยระยะสุดท้าย 35,506 คน 
                  ทั้งนี้ การบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอตามองค์ประกอบ UCARE คือ
1.การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ (Unity District Health Team) ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชน (Community Participation) เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในระดับอำเภอ
3.การทำงานจนเกิดคุณค่า ทั้งกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการเอง (Appreciation) ในการบริการปฐมภูมิ
4.การแบ่งปันทรัพยากร และการพัฒนาบุคลากร (Resource Sharing and Human Development) มาใช้ร่วมกัน ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีในภารกิจทางสุขภาพ และ
5.การให้บริการสุขภาพตามบริบทที่จำเป็น (Essential Care) ที่ตอบสนองต่อปัญหาในพื้นที่
                  โดยในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข เน้นการจัดบริการแบบบูรณาการ สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 8 จึงจัดให้งานภาคประชาชน ตำบลจัดการสุขภาพ งานส่งเสริมสุภขาพ ตำบลดูแลผู้สูงอายุระยะยาว  และงานสุขศึกษาในหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จัดบูรณาการขับเคลื่อนไปด้วย โดยพยายามกำหนดเป้าหมายเดียวกัน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนต่อไป
              นโยบาย ประชารัฐ จะสามารถนำความร่วมมือของประชาชนไทยทุกภาคส่วนขับเคลื่อนประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจคือรายได้ อาจจะช้าในห้วงระยะเวลาแรก เนื่องจากรัฐบาลต้องจัดการกับระบบการปฏิรูปที่ผ่าน แต่จะก้าวกระโดดในด้านรายได้ในอนาคนเพราะไทยได้เปรียบทั้งเป็นศูนย์กลางอาเซียนและมีทรัพยกรที่พอจะสนับสนุน รวมทั้งเครือข่ายประชารัฐระดับ AEC ที่ต่างชาติหลายประเทศ อิจฉาเป็นแน่นอน ดังนั้นนโยบายความร่วมมือช่วยเหลือกันในแถบประเทศเพื่อนบ้านย่อมนำมาซึ่งความสงบสุขภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะด้านสังคม เกิดการเรียนรู้ระเบียบวินัย มีการเคารพ กฎหมายมากขึ้น ระบบการเมืองถูกปฏิบัติรุปแบบพลิกฝ่ามือ ซึ่งหลาย ๆ ปีที่ผ่านเราจะแก้กฎหมายแต่ละฉบับแสนยากเข็ญ ดังนั้น นโยบายประชารัฐเชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมั่นคงในชีวิต ต่อไป